-เราเห็นคนเวลา เหนื่อย เพลีย ต้องถอนหายใจยาวๆ แล้ว รู้สึกโล่ง สบายขึ้น … เห็นเวลาฝึกทำสมาธิ ก็สอนในตามลมหายใจ สูดหายใจลึกๆ เข้าออก ช้าๆ .. เวลาอยากจะนอนหลับ ก็ให้ฝึก หายใจ ลึกๆ ยาวๆ … การหายใจแบบนี้ มีผลทางสรีรวิทยา ที่อธิบายทางการแพทย์ได้ไหมครับ
-ในการหายใจปกติ เราจะหายใจ ตื้น ความถี่คงที่ประมาณ 15-20 ครั้งต่อนาที ซึ่งภาวะดังกล่าว อากาศที่เราสูดหายใจเข้าไป จะดันถุงลมส่วนใหญ่ ให้พองออก และ มีพื้นที่แลกเปลี่ยน ออกซิเจน และ คาร์บอนไดออกไซด์ กับก๊าซที่อยู่ในกระแสเลือด ส่งผ่านเม็ดเลือดแดงเพื่อให้เซลล์ต่างๆของร่างกายนำไปใช้ แต่การหายใจแบบ คงที่เช่นนี้ ถุงลมบางส่วนที่มีลมเข้าไปน้อย จะแฟบลง ทำให้ เราใช้ถุงลมไม่ทั่วทุกส่วน มีบางส่วนโป่ง บางส่วนแฟบ และ หากปล่อยไว้นานๆ การแลกเปลี่ยนก๊าซจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จนบางทีก็ทำให้ต้องหายใจถี่ขึ้น เร็วขึ้น ซึ่ง ถ้า หายใจถี่ขึ้น ระยะเวลาที่ลมเข้าไปในปอด ก็ลดลง ถุงลมก็จะแฟบมากขึ้น ทำให้เรารู้สึกไม่สบายตัว … ดังนั้น กลไกในธรรมชาติ จะสร้างให้เราจะมีการ ถอนหายใจ หรือ สูดหายใจลึกๆ เป็นพักๆ สลับกับการหายใจปกติ โดยที่เราไม่รู้ตัว … แต่ในจังหวะที่ เราใช้พลังงานมาก ไม่ว่าจะกำลังกาย หรือ กำลังสมอง จะเกิดการ ถอนหายใจ หรือ สูดหายใจลึกๆ บ่อยขึ้นครับ
-กลไกตามธรรมชาติของการหายใจ …เมื่อมีการสูดอากาศเข้าไปในปอด จะมีการส่งสัญญาณ ไปที่สมอง ผ่านศูนย์สัญญาณ การหายใจปกติ (แบบเร็ว) ที่เรียกว่า RAR (Rapidly-adapting receptor) เพื่อกระตุ้นวงจรหยุดหายใจ และ หายใจออก อย่างต่อเนื่อง แต่ ในปอด ยังมี ศูนย์สัญญาณอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ค่อยถูกกระตุ้น จะส่งสัญญาณเมื่อหายใจ ลึก และ ช้า เรียกว่า SAR (Slowly-adapting receptor) ซึ่ง สัญญาณนี้จะส่งไปสมอง เมื่อมีการขยายตัวของถุงลมค้างนานกว่าปกติ โดยที่ สัญญาณ จาก SAR จะไปกระตุ้น ระบบประสารทอัตโนมัติ ส่วน พาราซิมพาเทติก ให้หัวใจเต้นช้าลง และ เส้นเลือดในปอดขยายตัว ส่งสัญญาณ ไปยับยั้งที่สมองชั้นกลาง ที่ดูแลส่วนของสัญชาตญาณระวังภัย เช่น locus coeruleus (LC), central nucleus of the amygdala (CeA), และ hippocampus (HC) ให้ทำงานน้อยลง .. เมื่อสมองเหล่านี้ ได้รับสัญญาณ จาก SAR และ NTS ซึ่งเป็นส่วนกำกับจังหวะการหายใจ จะทำให้ สมองไม่กระสับกระส่าย ไม่ตื่นเต้นง่ายจนเกินไป และ ส่งผลต่อ สมองส่วนความนึกคิด (Cortex) จะมีคลื่นไฟฟ้าสมองความถี่ต่ำ(0.1 Hz คลื่นอัลฟา) แบบเดียวกับที่เวลาเราเกิดสมาธิ หรือ เวลาหลับลึก ซึ่ง เป็นช่วงเวลาที่สมอง มีประสิทธิภาพสูง (เพราะไม่มีสิ่งรบกวน) ประกอบกับ ปริมาตรอากาศในปอดก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น รับออกซิเจนได้มากขึ้น สมองจึงรู้สึก สดชื่น โปร่งโล่ง และ มีประสิทธิภาพ
-ข้อมูลทางการแพทย์นี้ แสดงให้เห็นถึง การถอนหายใจยาวๆ หรือ การฝึกการสูดหายใจลึก และ ช้า ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง สงบ สบาย … เราเองก็ไม่ต้องไปหงุดหงิด เวลาเจอคนถอนหายใจ นะครับ เขากำลังปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานสมองของเขาอยู่ครับ