ผ่าตัดแล้ว มีท่อระบายน้ำเหลือง ไว้ทำไม

-หลายครั้งที่หลังผ่าตัดเสร็จ คุณหมอจะมีสายออกมาจากข้างๆแผล และ ต่อเข้ากับขวด ซึ่งในสายหรือ ท่อ ก็จะมีน้ำเลือด หรือ น้ำเหลืองค้างอยู่ และ ค่อยๆ ไหลลงในขวด แต่ในการผ่าตัดบางอย่าง บางครั้ง ก็ไม่ต้องมีท่อหรือมีสายระบายน้ำเหลือง … เป็นเพราะอะไรครับ

ในการผ่าตัดทุกชนิด เนื้อเยื่อปกติ จะถูกตัดให้แยกออกจากกัน ทำให้เกิดการฉีกขาด หรือ ขาด ของเยื่อบุผิว ซึ่งอาจจะเป็นทั้ง เยื่อบุผิวภายนอก (ผิวหนัง) หรือ เยื่อบุผิวภายใน ที่บุหุ้มรอบอวัยวะต่างๆอยู่  … การฉีดขาดของเยื่อบุผิวนี้ ถ้าเทียบง่ายๆ ก็เหมือนเวลาเราหกล้ม แล้ว หัวเข่าถลอก นั่นคือ เกิดการฉีดขาดของเยื่อบุผิวหนังบริเวณหัวเข่า ทำให้นอกจากเจ็บแผลแล้ว อาจจะมีเลือดออก หรือไม่ก็จะมีน้ำเหลือง ซึมๆ ออกมาที่รอยถลอก … ในการผ่าตัดอวัยวะภายใน ก็เช่นเดียวกันครับ ไม่ว่าจะผ่าตัดลำไส้ ผ่าตัดเต้านม ผ่าตัดไทรอยด์ ฯลฯ ล้วนแต่มีการบาดเจ็บของเนื้อที่ถูกผ่า หรือ ถูกตัด จะทำให้เกิด สภาพคล้ายแผลถลอก ที่อยู่ด้านในช่องท้อง ใต้ผิวหนังที่เต้านม หรือ ใต้ผิวหนังที่คอ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ หากบริเวณที่ผ่าตัดถ้าเป็นการผ่าตัดบริเวณกว้าง เช่นผ่าตัดเต้านม ผ่าตัดลำไส้ ก็มีโอกาส เกิดลักษณะคล้ายกับมีแผลถลอกขนาดใหญ่ที่ด้านใน หรือบางครั้ง อาจจะมีบริเวณที่เลือดออก ซึมๆ มาตลอด ดังนั้น เพื่อไม่ให้น้ำเหลือง หรือ เลือดคั่งอยู่ภายใน คุณหมอจึงทำท่อให้มันไหลออกมา ซึ่งส่วนใหญ่ จะเป็นท่อที่ถูกดูดด้วยภาวะสุญญากาศในขวดที่ใช้รองรับน้ำเหลืองหรือน้ำเลือด เพื่อไม่ให้น้ำเหลืองหรือน้ำเลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในแผล

การมีน้ำเหลือง หรือ น้ำเลือดคั่งอยู่ในแผล จะทำให้แผลหายช้าลง เพราะว่า การสร้างเนื้อเยื่อให้มาชนกันหรือติดกันทำได้ลำบากขึ้น

-แต่ในการผ่าตัดบางอย่าง เช่น ผ่าไฝ เย็บแผลมีดบาด เป็นแผลขนาดเล็ก บริเวณไม่กว้างมากอี น้ำเหลืองก็ไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องมีท่อระบายน้ำเหลือง สามารถ เย็บแผลปิดได้เลยครับ

-โดยทั่วไป ท่อระบายน้ำเหลือง หรือ น้ำเลือด จะทิ้งไว้ชั่วคราว ไม่กี่วัน ถ้าน้ำเหลืองน้อยลง หมอ ก็ดึง หรือ ถอดสายออก ยกเว้นบางกรณีที่มีน้ำเหลืองหรือ น้ำเหลือดจำนวนมาก ก็จะทิ้งสายไว้นานขึ้นครับ


ผ่าตัดแล้ว มีท่อระบายน้ำเหลือง ไว้ทำไม