-เมื่อวานนี้ มีคนไข้มะเร็งเต้านมที่ผมรักษามาตรวจติดตาม หลังการรักษาไป 2-3 ปี ทุกอย่างปกติ .. แต่ลูกสาวผู้ป่วยเล่าว่า จากการมาตรวจเมื่อปีที่แล้ว ผมได้แนะนำให้ผู้ป่วย ตรวจคัดกรองหามะเร็งลำไส้ด้วย ด้วยวิธีการส่องกล้องตรวจ ผู้ป่วยจึงทำตามคำแนะนำไปนัดตรวจส่องกล้องลำไส้ … ลูกสาวที่ติดตามไปด้วย เลยขอตรวจด้วย โดยที่ไม่มีอาการใดๆ ปรากฎว่า ลูกสาวพบติ่งเนื้อ ที่ตัดชิ้นเนื้อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ จึงได้รับการรักษา ผ่าตัดไปเรียบร้อย และเนื่องจากเจอเร็ว จึงสามารถตัดเนื้อร้ายออกได้หมด และ ตัดต่อลำไส้ให้สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ … ถ้าหากไม่ได้รับการตรวจคัดกรอง และ รู้เมื่อมีอาการ โอกาสรักษาหายก็จะน้อยลงไปมาก แถมยังอาจจะต้องเปิดลำไส้ให้ขับถ่ายทางหน้าท้อง เนื่องจากเป็นมาก ไม่สามารถต่อลำไส้ให้ขับถ่ายตามปกติ … โชคดีของลูกสาวคนไข้ของผมมากๆ เลยครับ
-มะเร็งลำไส้ เจอได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็ง ที่พบกัน และ หากเราทำการตรวจคัดกรอง โอกาสพบมะเร็ง ลำไส้ตอนที่ยังเป็นน้อยๆ และ รักษาหายได้ …เซลล์มะเร็งลำไส้ จะมีการค่อย กลาย จากติ่งเนื้อในลำไส้ กลายเป็น ติ่งเนื้อผิดปกติ (atypia) และกลายเป็นมะเร็งในที่สุด จนถึงอาจจะลุกลามกระจายตัวไปยังที่อื่นได้ ทั้ง ตับ ทั้งปอด ฯลฯ … ดังนั้น ส่องกล้องตรวจลำไส้ และ พบแต่เนิ่นๆ ตอนที่ยังเป็นติ่งเนื้อ หรือ ติ่งเนื้อผิดปกติ หรือ มะเร็งที่ยังมีขนาดเล็ก ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โอกาสรักษาหาย มีชีวิตรอด สูงถึง 92%
-การตรวจหามะเร็งลำไส้ มีหลายระดับ แบบง่าย คือการตรวจอุจจาระ หาดูว่า มีเม็ดเลือดแดงในอุจจาระหรือไม่ เรียกว่า FIT test (fecal immunochemical test) ซึ่งหากพบผิดปกติ ก็จะให้ไปส่องกล้องตรวจ วิธีการนี้ไม่ยุ่งยาก ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องเตรียมตัว ซึ่ง สามารถใช้เป็นการคัดกรองเบื้องต้นได้ แต่ยังมีข้อด้อย คือ อาจจะพลาด ตรวจไม่พบความผิดปกติ 1 ใน 16 คนหรือ ประมาณ 6-7%
-การตรวจที่แม่นยำ คือ การส่องกล้องตรวจลำไส้ (Colonoscope) วิธีนี้ คุณหมอจะสอดสายกล้องขนาดเล็กกว่านิ้วก้อย เข้าไปในลำไส้ สามารถตรวจ มองเห็นตลอดลำไส้ว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ และ หากพบสิ่งผิดปกติ ก็สามารถ ตัดชิ้นเนื้อนั้น ออกไป หรือ ตัดเพื่อพิสูจน์เนื้อได้เลยในครั้งเดียวกัน … เป็นการตรวจ ที่มีความแม่ยำสูงมาก แต่จะมีขั้นตอนเล็กน้อย ในการเตรียมลำไส้ให้สะอาด ปราศจากอุจจาระ … ในอดีต การเตรียมลำไส้จะค่อนข้างยุ่งยาก และ การส่องกล้อง ก็ทำโดยที่คนไข้ตื่นอยู่รู้ตัว จึงเกิดความรู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด ทำให้ คนไม่ค่อยอยากตรวจส่องกล้องลำไส้ … แต่ในปัจจุบัน วิทยาการทันสมัยขึ้นมาก การเตรียมลำไส้ก็ไม่ยุ่งยาก แค่กินอาหารอ่อน (กากน้อย) 2-3 วันก่อนตรวจ และ ดื่มน้ำยาเพื่อไล่อุจจาระออก ตอนเย็นของวันก่อนทำการตรวจ มีการถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แค่ไม่กี่ชั่วโมง ก็เรียบร้อยพร้อมตรวจ ในการส่องกล้องตรวจทุกวันนี้ หมอก็จะให้ยาให้เคลิ้มหลับ ซึ่ง จะไม่รู้สึกอะไรเลย ตื่นมาอีกที ก็อยู่ที่ห้องพักฟื้นแล้ว เหมือนแค่นอนหลับไป ไม่เจ็บไม่ปวด หลังจากนั้น ก็กินอาหารและใช้ชีวิตได้ตามปกติ
-ทางการแพทย์ แนะนำให้ส่องกล้องตรวจหามะเร็งลำไส้ ตั้งแต่ อายุ 45-50 ปีขึ้นไป หากปกติ ตรวจซ้ำทุก 5-10ปี หากมีติ่งเนื้อ ตรวจซ้ำทุก 3-5 ปี … ผมเอง ส่องกล้องตรวจมาแล้ว 3 รอบ ละครับ