ยายมา ยายด่า ตามา ตาตี

-ได้มีโอกาสฟังท่านพุทธทาส บรรยายธรรม และ ยกเรื่อง “ยายกะตา” ซึ่งเป็นนิทานพื้นบ้านสำหรับเด็ก มาเล่าให้ฟัง.. ท่านเทียบเรื่องนี้ กับ ธรรมะสำคัญคือ อิทัปปัจจยตา : หัวใจปฏิจจสมุปบาท เป็นธรรมะ ที่อธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในโลกใบนี้ ทำให้เข้าใจธรรมะ ได้อย่างง่ายดีครับ

-กาลครั้งหนึ่ง ยังมียายกับตาปลูกถั่วปลูกงาไว้ในไร่ ยายกับตากลัวอีกาจะมากินถั่วกินงา จึงสั่งให้หลานชายคอยเฝ้า อยู่มาวันหนึ่ง หลานออกไปเดินเล่นนอกไร่ ทิ้งไร่ถั่วไร่งาไว้

อีกาที่แอบอยู่บนต้นโพธิ์ ก็ลงมากินเมล็ดถั่วเมล็ดงา ไปเจ็ดเมล็ด เจ็ดทะนาน

-เมื่อยายรู้เรื่อง ยายก็ด่า เมื่อตามา ตาก็ตี

-หลานชายร้องไห้ไปหานายพราน หนูโดนยายด่าโดนตาตี เพราะปล่อยให้อีกามาลักถั่วลักงา นายพรานช่วยไปยิงอีกา เอาถั่วเอางามาคืนให้หนูหน่อยซี!

-วิงวอนจนอ่อนใจ นายพรานก็ไม่ยอมไปยิงอีกา หลานชาย จึงไปหาหนู ขอร้องให้หนูไปกัดธนูของนายพราน หนูบอกว่าธุระไม่ใช่

-หลานชายไปหาแมว อ้อนวอนให้ไปกัดหนู แมวสั่นหน้าบอกว่าเบื่อกัดหนู หลานชายไปหาหมา ขอร้องให้ไปกัดแมว หมาบอกว่าไม่ใช่ธุระอะไรของตัวเอง

-ไม่มีใครสนใจไยดี หลานชายโมโห ไปหาค้อนขอร้องค้อนให้ไปแยงหูหมา ค้อนไม่ยอมไป หลานชายผิดหวังจากค้อน จึงไปหาไฟ ขอร้องให้มาเผาค้อน ไฟอ้างว่าค้อนไม่เคยทำผิดคิดร้าย จะไปเผาค้อนได้อย่างไร

-หลานชายแค้นไฟไม่ช่วย จึงไปท่าน้ำ อ้อนวอนน้ำให้ไปช่วยดับไฟ น้ำก็ไม่ยอมดับไฟให้ หลานชายจึงไปบอกตลิ่งให้พังลงไปทับน้ำ ตลิ่งไม่ยอมทำตาม บอกว่าน้ำเขาอยู่ของเขาดีๆ

-หลานชายไม่ละความพยายาม ไปหาช้าง ขอให้ช้างมาพังตลิ่งทับน้ำ ช้างบอกว่ามีงานต้องทำติดพัน

-ไปหาใครก็ถูกปฏิเสธ หลานชายหมดกำลังใจ หยุดพักนั่งใต้ต้นไม้ ยังนึกไม่ออกจะทำยังไงต่อ พอดีแมลงหวี่ตัวหนึ่ง ก็บินเสียงหึ่งมาวนเวียนใกล้ตัว หลานชายจึงคิดแผนไม้ตาย แผนสุดท้าย

-หลานชายใช้ความว่องไว ไล่จับแมลงหวี่ไว้ในมือ ขู่แมลงหวี่ จะบี้ให้ตาย ถ้าไม่ยอมไปตอมตาช้าง แมลงหวี่กลัวตาย แลกชีวิตด้วยการไปตอมตาช้าง

-ช้างทนแมลงหวี่ตอมตาไม่ไหว ก็ไปพังตลิ่ง ตลิ่งก็ไปทับน้ำ น้ำก็ไปดับไฟ ไฟก็ไปไหม้ไม้ค้อน ค้อนก็ไปแยงหูหมา หมาก็ไปกัดแมว แมวก็ไปกัดหนู หนูก็ไปกัดสายธนูนายพราน

-นายพรานเห็นท่าไม่ดี จึงยอมไปยิงอีกา

-อีกาเห็นท่านายพรานจะยิง ก็ยอมคืนถั่วงาที่ขโมยไปเจ็ดเมล็ดเจ็ดทะนาน หลานก็ได้ถั่วงาไปคืนตาคืนยาย ตายายก็หายโกรธยอมยกโทษให้หลาน

-นับแต่นั้น หลานก็ตั้งใจเฝ้าไร่ถั่วไร่งา ยายตากับหลานก็อยู่กันอย่างมีความสุข

-นิทานเรื่องนี้ ผมเองคงเคยรู้ตอนเด็กๆ แต่จำได้เฉพาะประโยค “ยายมายายด่า ตามาตาตี” โดยมองไม่ออกว่า เป็นธรรมะขั้นพื้นฐาน … การได้ปลูกฝังหลักการพื้นฐาน ในชีวิต ในสังคม ให้เด็กๆ ได้ซึมซับ และ เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และ ความสัมพันธ์ของ สิ่งต่างๆ เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องสำคัญ เพราะ เมื่อเติบโตขึ้น จะทำให้สามารถเข้าใจ ชีวิต เข้าใจความเชื่อมโยงและความเป็นไปของเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบๆตัวเรา และ เกิดกับชีวิตของเรา …. ทุกอย่าง มีที่มาที่ไป มีเหตุมีผล และ ทุกการกระทำที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ และ การไม่ทำอะไร ก็ย่อมส่งผลต่อเรื่องอื่นๆเช่นกัน ซึ่งเป็นหลักของ ธรรมะ “อิทัปปัจจยตา” ที่ใช้ในการอธิบาย “ปฏิจจสมุปบาท” ที่ว่าด้วย การเกิด ทุกข์ และ เมื่อรู้และ เข้าใจ ก็จะสามารถ ดับทุกข์ได้ครับ

-นิทาน ยายกะตา ดับทุกข์ได้ครับ


ยายมา ยายด่า   ตามา ตาตี