มาโรงพยาบาลทีไร ความดันขึ้นทุกที

-หมอมักจะเจอคนไข้บางคน ที่เวลามา โรงพยาบาล แล้ว ไม่ได้พบหมอสักที เพราะ ว่า พยาบาล วัดความดันโลหิต แล้ว ความดันสูง ให้นั่งพัก วัดซ้ำ ก็ยังสูงอยู่ วัดกันหลายรอบมาก… และ คนไข้ จะบอกกับหมอว่า อยู่ที่บ้าน ความดันโลหิตปกติ แต่มา โรงพยาบาล ทีไร ความดันสูงทุกที วัดเท่าไหร่ก็ไม่ลง … มาดู ข้อมูลทางการแพทย์กันครับ

-มีการศึกษา ในประเทศ ออสเตรีย เมือง ซัลบรูก (Salzburg, Austria) ให้อาสาสมัคร 26 คน (ชาย 10 หญิง 16) ติดกล้องที่ศีรษะ ใส่นาฬิกาวัดค่าสุขภาพ และ แผ่นปิดวัดการเต้นหัวใจที่หน้าอก ระหว่าง เดินทาง ไปใน 4 บริเวณ ของ เมือง โดยที่ บริเวณที่ 1 เป็นพื้นที่สีเขียว มีต้นไม้ บริเวณที่ 2 เป็น เขตชุมทางการขนส่ง บริเวณที่ 3 เป็นย่านการค้าขาย และ บริเวณที่ 4 เป็นบริเวณสีฟ้า มีน้ำ (ดังรูป) โดยใช้เวลาในการเดินในพื้นที่แต่ละ zone นาน 15 นาที และ นั่งพัก 5 นาที …. จากนั้น นำข้อมูลจากอุปกรณ์ที่ตรวจวัด ณ เวลาจริง มาคำนวณ ค่า 2 ค่า คือ ค่าความหนาแน่นของคน หรือ คนที่ขี่จักรยาน หรือ จำนวนรถยนต์ และ จำนวนที่นั่ง (ใช้โปรแกรม วิเคราะห์ และ นับจำนวนจากภาพในกล้องที่ติดตัว) มีการเทียบความหนาแน่นของคน และ พาหนะ ตามระยะที่อยู่ใกล้ หรือ ไกล จากตัวอาสามัครร่วมด้วย …นำข้อมูลมาหาความสัมพันธ์ กับ ค่าที่ 2 คือ ค่าของความเครียด Galvanic Skin Response : GSR ร่วมกับอัตราการเต้นของหัวใจ ได้ผลลัพธ์ ปรากฏในภาพด้านขวา บริเวณที่เป็น สีส้มสีแดง แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันสูง ระหว่างความหนาแน่นกับความเครียด ส่วนสีฟ้า สีน้ำเงิน แสดงว่ามีความสัมพันธ์กันน้อย

ค่า Galvanic Skin Response : GSR เป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงของความสามารถในการนำไฟฟ้าที่ผิวหนัง ซึ่ง จะแปรเปลี่ยน ไปตามความตื่นเต้นหรือ ความเครียด ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ อย่างรวดเร็ว ซึ่ง เราไม่สามารถบังคับ หรือ หลอก หรือ ตั้งใจให้มากขึ้นหรือน้อยลงได้ (ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่ง ที่ใช้ประกอบในเครื่องจับเท็จ)

-จากข้อมูลการศึกษาพบว่า  มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน ว่าความเครียดเพิ่มขึ้น เมื่อมีคนหนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ย่านการค้า... ยังพบอีกว่า ความเครียดเพิ่มขึ้น เมื่อมี จักรยานเพิ่มขึ้น…โดยรวมคือ เมื่อมีคนหนาแน่นขึ้น ก็จะทำให้เครียดมากขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่บางคน เวลามา โรงพยาบาล ความดันโลหิตขึ้นสูงทุกที ไม่ค่อยลดลง (ในโรงพยาบาล คนหนาแน่นกว่าอยู่ที่บ้าน เป็นสิบเป็นร้อยเท่า) … หากเรียนรู้จากการศึกษานี้ การนั่งวัดความดัน อาจจะต้องให้ไปนั่งวัดในพื้นที่ที่ไม่แออัดจนเกินไป และ มี สีเขียวๆ เพื่อผ่อนคลาย (ตรงนี้ ทาง รพ ส่วนใหญ่ อาจจะยังไม่ทันได้คิดถึงเรื่องนี้ จัดการวัดความดันตามพื้นที่ และ ความสะดวกในการเรียกคนไข้ ซึ่ง มักจะเป็นบริเวณที่แออัดที่สุดของผู้ป่วยนอก)

-เทคโนโลยี ปัจจุบัน ดีมาก สามารถช่วยเราพิสูจน์เรื่องราวที่เป็นวิทยาศาสตร์ ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้นครับ

 


มาโรงพยาบาลทีไร ความดันขึ้นทุกที