-เรารู้กันว่า การทำ IF (intermittent fasting) ดีต่อสุขภาพ คือ ให้มีช่วงเวลาท้องว่างนานๆ ดีต่อสุขภาพ … ด้วยวีธีการนี้ บางคนงดอาหารเย็น บางคนเลือกที่จะงดอาหารเช้า… มาดูกันครับ ว่า การเริ่มกินมื้อแรกของวัน ตอนสายๆ มีผลต่อสุขภาพไหมครับ
-มีการศึกษา ในประชากร กลุ่มใหญ่ เกี่ยวกับอาหาร ที่เรียกว่า the National Health and Nutrition Examination Survey (NHANES) study โดยให้ อาสาสมัคร จดรายการอาหารที่กิน และ เวลาที่กินอาหารแต่ละครั้ง นำมาวิเคราะห์ เทียบกับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือดตอนเช้า และ ดัชนีการดื้อต่ออินซูลิน HOMA-IR (คำนวณจากระดับน้ำตาลในเลือดเทียบกับระดับอินซูลินในเลือด) โดยศึกษาเทียบกับ ปัจจัยหลัก 2 อย่าง คือ เวลาเริ่มกินอาหารมื้อแรกของวัน และ ระยะเวลากินอาหารตลอดทั้งวัน (เวลากินมื้อสุดท้าย ลบด้วยเวลาเริ่มกินมื้อแรก) ซึ่ง ตัวเลขนี้ เมื่อหักออกจาก 24 ชั่วโมง จะเป็นระยะเวลาอดอาหารตามหลักของ IF
-ได้ข้อมูลทั้งหมด จากประชากร 7,619 ราย และมีค่าเฉลี่ย เริ่มกินอาหารมื้อแรก ที่ 8.20 น จึงแบ่งกลุ่มระยะเวลา คนกินอาหารมื้อแรก เป็นกลุ่มที่เริ่มกินก่อน 8.30 น และ เริ่มกินหลัง 8.30 น และ ดูระยะเวลา กินอาหารทั้งวัน <10 ชม (เวลาอดอาหาร มากกว่า 14 ชม) กินอาหาร 10-13 ชม (เวลาอดอาหาร 11-14 ชม) และ กลุ่มที่กินอาหาร มากกว่า 13 ชม (เวลาอดอาหาร น้อยกว่า 11 ชม) เมื่อนำผลมาวิเคราะห์ ระดับน้ำตาลในเลือด และ ดัชนีการดื้อต่ออินซูลิน พบว่า ทุกๆ 1 ชม ที่เริ่มกินอาหารมื้อแรกช้าลง ระดับน้ำตาลในเลือด จะสูงขึ้น 0.6% และ ดัชนีการดื้อต่ออินซูลิน HOMA-IR จะเพิ่มขึ้น 3%
-การศึกษานี้ บอกเราว่า การกินอาหารมื้อแรกสาย มีผลให้ น้ำตาลในเลือดสูง ขึ้น และ ดื้ออินซูลินมากขึ้น โอกาสเป็นเบาหวานมากขึ้น ทั้งนี้ อธิบายด้วยการเปลี่ยนแปลงตามนาฬิกาชีวิต เพราะ ในช่วง เช้ามืด จะมี hormone cortisol ซึ่งเป็น ฮอร์โมนความเครียด ออกมาสูงกว่าปกติ ทำให้ทั้งความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายต้องการพลังงาน และ ต้องการน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น หากเรายังไม่ได้กินอาหาร ร่างกายก็ต้องดึงพลังงานมาจากแหล่งอื่น และ อินซูลิน ก็ต้องออกมาทำงาน เพิ่มขึ้น ตามไปด้วยครับ
-ในอดีต เราจึงได้ยินคำบอกเล่าต่อๆกันว่าอาหารมื้อเช้า สำคัญมาก แม้แต่คนกินอาหารมื้อเดียว ก็กินแต่มื้อเช้าครับ