-เมื่อเดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านม หลังผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด และ เคมีบำบัดเรียบร้อยไปแล้วเดือนกว่าๆ (ประมาณ 5 เดือนหลังผ่าตัด) มาโรงพยาบาลด้วยอาการ ปวด บวม บริเวณแผลผ่าตัด มีไข้สูงเป็นพักๆ มา 3-4 วัน ตรวจร่างกาย พบว่า บริเวณแผลผ่าตัด บวม แดง ตึง เหมือนมีน้ำอยู่ใต้แผลผ่าตัด (ซึ่งปกติ จะพบน้ำใต้แผลผ่าตัดได้ในช่วงแรกหลังการผ่าตัดเต้านม) …จากการวินิจฉัย คิดว่ามีการอักเสบของน้ำที่คั่งอยู่ใต้แผลผ่าตัด ซึ่งการรักษาโดยทั่วไป ก็แค่ดูดน้ำเหลืองที่คั่งอยู่ออกและ หากน้ำเหลืองขุ่นหรือติดเชื้อ ก็ให้ยาปฏิชีวนะ เท่านั้น ก็เพียงพอ … แต่ปรากฏว่า ผู้ป่วยรายนี้ ดูดออกมาได้เป็นหนองข้นๆ (ปกติ จะไม่พบสภาพแบบนี้ที่อักเสบจนเป็หนอง) จึงจำเป็นต้องนำผู้ป่วยไปทำการผ่าตัดระบายหนองออกด้วยการวางยาสลบ ซึ่ง ก็ได้หนอง ประมาณ 500 cc. … ผู้ปวยต้องให้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีด ร่วมกับการทำแผล อยู่ เป็นสัปดาห์ จึงกลับบ้านได้
-ด้วยเหตุที่ สถานการณ์อย่างนี้ ไม่ค่อยได้เจอ และ รู้สึกว่าผิดปกติอย่างมาก ในคนทั่วไป จะไม่มีการอักเสบจนเป็นหนองมากขนาดนี้ … จากประวัติการเจ็บป่วยพบว่า ผู้ป่วยรายนี้ เป็นเบาหวาน และ ไม่ค่อยกินยา หรือ ควบคุมเบาหวาน ในการตรวจรักษาเบาหวาน มักจะมีค่าน้ำตาลในเลือดระดับ 160 mg/dl และในการเจ็บป่วยครั่งนี้ ระดับน้ำตาล สูงถึง 200+ mg/dl HbA1C =10+ ซึ่งสูงมากจนต้องใช้ยาฉีดอินซูลินเข้าช่วยรักษาเบาหวาน เสริมจากยาที่กิน…. ซึ่งภาวะทีไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวาน ได้ สามารถอธิบาย เหตุการณ์ ของการเกิดเป็นหนองในผู้ป่วยรายนี้ได้เป็นอย่างดี
-จากการพูดคุย จึงพบว่า ผู้ป่วยไม่ค่อยมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวาน และ มองไม่ออกว่า การไม่ได้ควบคุมเบาหวาน เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยรุนแรงขนาดนี้ … ผมจึงได้อธิบาย ความรู้เกี่ยวกับเบาหวาน ให้ผู้ป่วย และ ญาติ ได้เข้าใจ ดังนี้
1) ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เม็ดเลือดขาวในร่างกาย ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถต่อสู้หรือกำจัดเชื้อโรคได้ เวลามีเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย จึงเกิดการเจ็บป่วยรุนแรง (เชื้อเข้าทางผิวหนัง ตามรอยเกา เมื่ออยู่ในน้ำเหลืองใต้แผลจึงอักเสบ จน เม็ดเลือดขาวกำจัดไม่ไหว กลายเป็นหนอง ใต้แผล) … ตราบใดที่ระดับน้ำตาลในเลือดยังสูงอยู่ เม็ดเลือดขาวจะทำงานไม่ได้ การอักเสบจากเชื้อโรคจะไม่หาย
2) น้ำตาลในเลือดสูง เกิดจาก มีปริมาณ อินซูลิน ไม่เพียงพอ (ไม่พอใช้) ในการเก็บอาหารที่กินและ ดูดซึมเข้าไป( ให้ไปเก็บไว้ที่ตับ และ ไขมัน )… พออินซูลินไม่พอ อินซูลินมีน้อย เก็บน้ำตาลได้บางส่วน น้ำตาลที่เหลือจึงอยู่ในกระแสเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
3) พออายุเยอะขึ้น ตับอ่อน จะสามารถผลิตอินซูลินได้ลดลง อินซูลินไม่พอใช้ น้ำตาลจึงสูงขึ้น
4) อินซูลินที่ตับอ่อนผลิตขึ้นมา เบื้องต้นจะเก็บไว้ในเซลล์ของตับอ่อน ต่อเมื่อมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ร่างกายจึงจะส่งสัญญาณ ให้ เซลล์ตับอ่อนปล่อยอินซูลินออกมากำกับน้ำตาลในกระแสเลือด …
5) ในคนที่เริ่มเป็นเบาหวาน ถึงแม้ว่า ร่างกายจะผลิตอินซูลินน้อยลง แต่ ปริมาณ อินซูลิน มักจะเพียงพอ สำหรับ นำน้ำตาลที่กินเข้าไป ในแต่ละมื้ออาหาร ไปเก็บได้หมด แต่ถ้าหากกินจุกจิก กินของระหว่างมื้อ ร่างกายก็จะนำอินซูลินที่ สะสมไว้ออกมาใช้ก่อน พอถึงมื้ออาหารจริงๆ ก็จะมีอินซูลินไม่พียงพอใช้ เช่น ร่างกายผลิดอินซูลินระหว่างมื้อเช้ากับเที่ยง ได้ 8 ส่วน พอดีกับ อาหารที่กินตอนมื้อเที่ยง 8 ส่วน อินซูลินก็เก็บน้ำตาลได้หมด น้ำตาลไม่สูง แต่ ถ้าระหว่างมื้อ กินของว่าง จุกจิก ร่างกายก็จะนำ อินซูลิน ที่ผลิตได้นำออกมาใช้ก่อน 2 ส่วน สำหรับของจุกจิก พอถึงมื้ออาหารจริงๆ มีอินซูลินเหลือเพียง 6 ส่วน ไม่พอกับอาหารที่กินเข้าไปตอนมื้อเที่ยง 8 ส่วน น้ำตาลถูกเก็บไม่หมด ก็เหลือ และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
5) ดังนั้น วิธีคุมเบาหวาน คือ กินให้พอดีกับ อินซูลิน ที่ร่างกายมี หรือผลิตได้ .. เมื่อรู้ว่า อายุเยอะขึ้น ตับอ่อนเริ่มทำงานไม่ค่อยไหว นอกจากกินยาช่วยแล้ว เรายังต้องช่วยตับอ่อน ด้วยการกินอาหาร ที่มีแป้ง และ น้ำตาล ในปริมาณ ที่พอดีกับ อินซูลินที่ร่างกายผลิตได้ คือ กินในแต่ละมื้อให้น้อยลง (แต่ยังต้องกินนะครับ) และ งดของว่าง หรือ อาหารระหว่างมื้อ เพราะจะทำให้ อินซูลินถูกใช้ไปกับอาหารระหว่างมื้อ พอถึงมื้ออาหารจริงๆ มีอินซูลิน ไม่พอใช้
-ผู้ป่วยและ ญาติ เมื่อได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด ก็เข้าใจ และ ยินดีปฏิบัติ … แผลที่เคยมีหนอง ก็หายดี สมานแผลติดดี ไม่มีภาวะแทรกซ้อน และ 1 เดือนให้หลัง มาตรวจติดตาม ระดับน้ำตาลในเลือด ที่เคยสูงถึง 200+ ก็ค่อยๆลดลง เหลือ 160 เหลือ 140 และ ล่าสุด เหลือ 100 mg/dl … โดยที่การกินยาเบาหวาน ยังคงเหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยให้ความร่วมมือ ในการกินยาเบาหวาน และ คุมอาหาร งดของจุกจิก ร่วมกับ ไม่กินแป้งและน้ำตาลในมื้อเย็น (ทำให้มีอินซูลิน สะสม เหลือพอใช้ ในมื้อเช้า และ มื้อเที่ยง)
-เรื่องยาวหน่อยนะครับ แต่ เป็นตัวอย่างว่า ผู้ป่วยมีส่วนอย่างมากในการควบคุมระดับน้ำตาลในการรักษาเบาหวาน และ ความร่วมมือ จะเกิดได้อย่างดี ถ้า เข้าใจว่า เกิดอะไรขึ้นในร่างกายของเราครับ