-มีคนถามผมว่า “เป็นโรคไตห้ามกิน โปรไบโอติก ใช่ไหมค่ะ” … คำตอบคือ ไม่ใช่ครับ
–คนเป็นโรคไต ขับโปรตีนได้ช้า หากกิน โปรตีนมาก อาจจะมีของเสีย กลุ่มยูเรีย ซี่งเป็นผลผลิตจากโปรตีน มากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ ในเลือด … หมอจึงไม่ให้คนเป็นโรคไต กินโปรตีนมากเกินไป
–โปรไบโอติก มีการพูดกันว่า เป็นส่วนที่มีประโยชน์ บำรุงร่างกาย ช่วยให้ระบบต่างๆในร่างกายดีขึ้น ทั้ง ทางเดินอาหาร การขับถ่าย ภูมิต้านทานโรค ป่วยน้อยลง ฯลฯ จึงอยากกิน “โปรไบโอติก” แต่ด้วยความที่ชื่อ คล้ายกับ “โปรตีน” สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการ เลย อาจจะเข้าใจว่า เป็น อาหาร กลุ่มเดียวกัน … คิดว่า คนเป็นโรคไต ไม่ควรกิน โปรไบโอติก
-มาทำความเข้าใจกับ โปรไบโอติก(Probiotics) กันครับ
–โปรไบโอติก คือ เชื้อแบคทีเรีย ที่ไม่ก่อโรค หรือ เชื้อโรคชนิดดี ที่มีอยู่ในลำไส้ของคน หรือ สัตว์ ซึ่ง สิ่งมีชีวิต แต่ละชนิด จะมีเชื้อโรคที่ไม่เหมือนกัน ในคน มีหลายชนิด เช่น Lactobacillus species, Bifidobacterium species ฯลฯ ซึ่ง เป็นเชื้อโรค ที่สามารถเติบโตในสิ่งแวดล้อม ในลำไส้ใหญ่ ของ คนเราได้ เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ เมื่อเติบโต เพิ่มจำนวน จะมีการกินอาหาร ที่เหลืออยู่ในลำไส้ของเรา ย่อยสลาย และ ขับถ่าย สารต่างๆ ออกมา ทำให้ สภาพแวดล้อม ในลำไส้ใหญ่ มีความเป็นกรด-ด่าง และ สารเคมี ที่ ไม่เหมาะสำหรับการเติบโตของเชื้อโรค เวลา เรากินอาหารที่ไม่สะอาด หรือ มีเชื้อโรคเข้าไป เชื้อโรคจะอยู่ไม่ได้ เพราะ เชื้อแบคทีเรีย กลุ่ม โปรไบโอติก จะเป็นเหมือน ทหาร ป้องกันภัยให้กับ ลำไส้ของเรา … นอกจากนี้ เชื้อโปรไบโอติก ยังจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในลำไส้ ให้มีภูมิคุ้มกัน ต่อต้านเชื้อโรคที่จะเข้ามาด้วยครับ
-ฟังถึงตรงนี้ งั้นก็ดีสิ ถ้ามีเชื้อโปรไบโอติก อยู่ในลำไส้ แล้ว ทำไมต้องกิน โปรไบโอติก ด้วยละ …. เวลาเราเจ็บป่วย บางครั้ง ท้องเสีย เชื้อโรคที่มีอันตราย อาจจะมีจำนวนมาก และ ชนะ เชื้อโปรไบโอติกของลำไส้เรา จึงเข้ายึดพื้นที่แทน เมื่อเรากินยาปฏิชีวนะ ทำลายเชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียแล้ว เชื้อโปรไบโอติก ก็ถูกทำลายไปด้วย (การกินยาปฏิชีวนะ มากๆ นานๆ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำเป็น มีผลเสียต่อ เชื้อกลุ่มโปรไบโอติกในลำไส้) หรือ บางครั้ง อาหาร ที่เรากิน เป็นอาหารที่ไม่เหมาะกับเชื้อโปรไบโอติก เชื้อเหล่านั้น ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ และ น้อยลง หรือ หมดไปในที่สุด ดังนั้น นอกจากการกินเชื้อโปรไบโอติก เข้าไปในร่างกายแล้ว การกินอาหาร ที่เหมาะกับเชื้อโปรไบโอติก ที่เรียกว่า ปรีไบโอติก (Prebiotics) ก็มีความจำเป็นครับ
-ในรูปภาพประกอบมีอาหาร ที่เป็นทั้ง ปรีไบโอติก และ โปรไบโอติก … จะเห็นว่า อาหารที่เป็น โปรไบโอติก มักจะเป็นอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการ หมัก เป็นส่วนใหญ่ เช่น ชีส กิมจิ เต้าเจี้ยว น้ำซุปมิโซ ฯลฯ และ นอกจากนี้ ก็เป็นอาหารที่ตั้งใจเตรียมขึ้น โดยการเพาะเลี้ยงเชื้อโปรไบโอติก ที่ดี เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น นมเปรี้ยว (ยาคูลท์) โยเกิร์ต ฯลฯ …. หลัง การกินยาปฏิชีวนะ หรือ เจ็บป่วย ช่วงฟื้นไข้ ควรกิน โปรไบโอติก … และ หากเลือกกินอาหารกลุ่ม ปรีไบโอติก เพียงพอ เราก็ไม่จำเป็นต้องกิน โปรไบโอติก ต่อเนื่องทุกวัน อาจจะเติม เป็นพักๆครับ
-โปรไบโอติก เป็นกลุ่มอาหารที่มีเชื้อที่ดี ไม่ได้เป็นโปรตีนอย่างที่เข้าใจ กันนะครับ